บทความกลุ่มนี้เป็นบทความที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านการปลูก การดูแล การบำรุงรักษา คุณลักษณะ ข้อดีหรือข้อจำกัดของต้นไม้และดอกไม้ พันธุ์ไม้นานาชนิด บทความนี้ยังสอดแทรกมุมมองด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและใกล้เคียงกับกลุ่มต้นไม้และดอกไม้ด้วย รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา แทรกเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ซึ่งสามารถใช้เป็นฐานองค์ความรู้ในการนำไปต่อยอดกับสิ่งที่สนใจต่อไป

-- บทความที่น่าสนใจ ( เพลี้ยแป้ง... ศัตรู "ลีลาวดี" ) --

         เพลี้ยแป้ง เป็นศัตรูที่สามารถทำความเสียหายให้กับพืชได้หลายชนิด ทั้งพืช ผัก ไม้ผล และไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับในวงศ์ Apocynaceae ไม่ว่าจะเป็น ชวนชม บานบุรี แพงพวยฝรั่ง หรือ ลีลาวดี ซึ่งในปัจจุบันลีลาวดีถือว่าเป็นไม้ดอกที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มคนหลายๆกลุ่ม ต้นลีลาวดีที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลายมักจะแสดงอาการชัดเจนจนทำให้ความงามของลีลาวดีลดลง สร้างความหนักใจให้กับผู้ปลูกเลี้ยงเป็นอย่างมาก
        - รูปร่างและลักษณะของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยแป้งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudococcus sp. ลักษณะตัวเต็มวัยเพศเมียมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร สีเหลืองอ่อน ลำตัวมีลักษณะอ้วนสั้น มีผงสีขาวปกคลุมตามตัว วางไข่เป็นกลุ่มๆละ 100 - 200 ฟอง บริเวณบนกิ่งและใบ ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 600 - 800 ฟอง ภายในเวลา 14 วัน ไข่จะฟักตัวอยู่ในถุงใต้ท้องตัวเมีย หลังจากนั้น 6 - 10 วัน จึงจะออกเป็นตัวอ่อน ตัวเมียจะมีการลอกคราบจำนวน 3 ครั้ง ไม่มีปีก และจะวางไข่ภายหลังจากลอกคราบครั้งที่ 3 ส่วนตัวผู้จะลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีก และมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ภายในเวลา 1 ปี เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์ 2-3 รุ่น
        - ลักษณะการเข้าทำลาย เพลี้ยแป้งเป็นแมลงที่อาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชบริเวณกิ่งใบ ช่อดอก หรือฝัก โดยลีลาวดีที่ถูกรบกวนด้วยเพลี้ยแป้งจะแสดงอาการที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ใบมีลักษณะบิดงอ ผิดรูป ออกดอกไม่สม่ำเสมอ ลำต้นแคระแกร็น เมื่อเข้าไปสังเกตใกล้ๆ จะพบกลุ่มของแมลงที่มีขนาด เล็ก-ใหญ่อยู่ร่วมกัน มีผงสีขาวคล้ายแป้งปกคลุมอยู่ทั่วลำตัว
        - เพลี้ยแป้งกับการปรับตัว และการแพร่ระบาด เพลี้ยแป้งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น และมักแพร่ระบาดในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมไม่มีพืชอาหารหลัก เพลี้ยแป้งจะอาศัยอยู่ในดิน ตามรากพืชโดยมีมดเป็นแมลงพาหะ โดยมดจะเข้ามากินสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนน้ำหวาน และเป็นตัวพาไปบริเวณต้นอื่นหรือไม้ชนิดอื่น จึงเป็นการแพร่กระจายเพลี้ยแป้งได้อย่างรวดเร็ว 
     นอกจากนี้สิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้งยังเป็นแหล่งอาหารที่ดีของราดำ เราจึงพบเสมอว่าเมื่อใดเกิดการระบาดของเพลี้ยแป้ง ในช่วงเวลาต่อมาจะพบการระบาดของโรคราดำตามมาด้วย ทำให้ใบของลีลาวดีมีสีดำด่าง เปรอะเปื้อนไม่สวยงาม และลดการสังเคราะห์แสงของใบลีลาวดีด้วย
     วิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง
        1. ตรวจดูแลต้นลีลาวดีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศร้อนชื้น (เดือนมีนาคม - พฤษภาคม) ถ้าพบเพลี้ยแป้งเพียงเล็กน้อยควรรีบกำจัด เช่น การเก็บใบ กิ่ง ช่อดอก ฝักที่มีเพลี้ยแป้งไปเผา ทำลาย
        2. ดูแลบริเวณสวนให้โปร่ง สะอาด และควรฉีดพ่นน้ำให้กับทรงต้น และใบของลีลาวดีอยู่เสมอ 
        3. หากพบการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรงควรใช้สารกำจัดแมลง เพื่อกำจัดตัวแก่และตัวอ่อนของเพลี้ยแป้ง ที่ตกค้างและกำจัดมด ซึ่งเป็นแมลงพาหะของเพลี้ยแป้ง 

     แหล่งข้อมูล : บทความรู้ด้านการเกษตรจากผลิตภัณฑ์ " โซตัส " (ผลิตภัณฑ์คุณภาพ)

 

 

 -- บทความที่น่าสนใจ ( การปลูกกล้วยไม้ประดับ ) -- 

     การปลูกพืชเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายนั้น การเลือกชนิดหรือกลุ่มของพืชที่จะนำมาปลูกให้เหมาะสมกับกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ เนื่องจากชนิดหรือกลุ่มของพืชที่นำมาเป็นสิ่งซึ่งสะท้อนถึงระดับรสนิยมของเจ้าของบ้าน กล้วยไม้เป็นสัญลักษณ์ของรสนิยมระดับสูงซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บทความนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการนำต้นกล้วยไม้ไปประดับตกแต่งสร้างบรรยากาศความเป็นธรรมชาติรอบตัวบ้านหรืออาคารพร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่ม และความประทับใจสูงสุดอีกด้วย
     กล้วยไม้เป็นไม้ดอกใบเลี้ยงเดี่ยวกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ ความหลากหลายของรูปทรงต้น ใบ และดอก  ตลอดจนถึงการเจริญเติบโต ซึ่งเหมาะกับการสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามโดยอาจปลูกที่พื้น ในซอกหิน หรือเกาะต้นไม้ใหญ่ ตามลักษณะของระบบราก เนื่องจากระบบรากกล้วยไม้มี 4 ระบบ คือ
        1. ระบบรากอากาศ เป็นระบบรากที่ดูดซับไอน้ำจากอากาศได้ดี มักยื่นจากต้นสู่อากาศก่อนจะไปยึดเกาะกับพื้นผิวอื่น รากระบบนี้มักมีขนาดใหญ่ ผิวนอกมีสีขาว ปลายรากซึ่งมีการเติบโตจะมีสีเขียว ไม่มีขนราก ตัวอย่างกล้วยไม้ที่นิยมปลูกประดับซึ่งมีรากระบบนี้ได้แก่ สกุลแวนด้า เช่น ลูกผสมสามปอย สกุลเข็ม เช่น เข็มแสด สกุลกุหลาบ เช่น ลูกผสมกุหลาบ สกุลช้าง เช่น ช้างกระ ช้างเผือก ช้างพลาย สกุลฟาแลนนอฟชีส โดยใช้ปลูกตามต้นไม้ใหญ่หรือปลูกลงแปลง
        2. ระบบรากกึ่งอากาศ เป็นระบบรากที่ดูดซับไอน้ำจากอากาศได้ดีพอสมควร มักเกาะยึดไปตามร่องของพื้นผิวจำพวกเปลือกไม้ กล้วยไม้ที่มีรากระบบนี้จะชอบวัสดุปลูกซึ่งเก็บความชื้นได้ดี และมีการถ่ายเทอากาศมากพอ ตัวอย่างกล้วยไม้ที่นิยมปลูกประดับซึ่งมีรากระบบนี้ได้แก่ สกุลหวาย สกุลคัทลียา สกุลซิมบีเดียม สกุลเพชรหึงษ์ และสกุลออนซีเดียม โดยนิยมใช้ปลูกเกาะต้นไม้ใหญ่
        3. ระบบรากกึ่งดิน เป็นระบบรากที่ดูดซับไอน้ำจากอากาศได้น้อยมาก มักแทรกตัวในซากใบไม้ผุ โดยกระจายตัวอยู่บริเวณผิว รากระบบนี้มักมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ผิวนอกมีสีน้ำตาลอ่อน ชอบวัสดุปลูกที่ค่อนข้างชื้น ตัวอย่างกล้วยไม้ที่นิยมปลูกประดับซึ่งมีรากระบบนี้ได้แก่ สกุลเอื้องดินใบหมาก โดยมักใช้ปลูกลงแปลง
        4. ระบบรากดิน เป็นระบบรากที่พบในพืชทั่วไปซึ่งทุกคนรู้จัก โดยมีลักษณะคล้ายรากพืชอื่นๆ คือ มีขนาดเล็ก แตกแขนงมาก มีขนราก กล้วยไม้ที่มีรากระบบนี้มักมีการพักตัวและลงหัวในช่วงฤดูแล้ง จึงไม่นิยมใช้ในการปลูกประดับสถานที่

     การปลูกเลี้ยงดูแลกล้วยไม้
        กล้วยไม้แต่ละสกุลมีถิ่นกำเนิดแหล่งที่มาซึ่งต่างกัน ความต้องการในการปลูกเลี้ยงจึงแตกต่างกันไปบ้าง จึงต้องการการดูแลเอาใจใส่ดังนี้
            - การปลูก กล้วยไม้สกุลมอคคารานั้น จะปลูกโดยก่อแปลงขึ้นด้วยหินก่อสร้างแล้วโรยทับบางๆด้วยกาบมะพร้าวสับชิ้นใหญ่หนา 2-3 ชั้น หรือก่อแปลงขึ้นด้วยถ่านขนาดเล็ก ซึ่งแปลงควรสูงราว 30-40 เซนติเมตร ควรปูพลาสติกใต้แปลงเพื่อป้องกันหญ้าจากดินงอกขึ้นมาบนแปลง เมื่อทำการปลูกจึงปักหลักยาวราว 1 เมตร เพื่อใช้พยุงต้นให้ตั้งตรง โดยปักให้หลักเหนือความสูงแปลงปลูกราว 50 เซนติเมตร ซึ่งหลักที่ใช้ควรเป็นโลหะ เช่น เหล็กหรืออะลูมิเนียม เพื่อให้มีระยะการใช้งานยาวนาน จากนั้นจึงนำยอดมอคคารามาผูกยึดไว้กับหลักด้วยลวดฟิวส์หรือลวดสายโทรศัพท์ โดยให้โคนต้นอยู่สูงกว่าผิวแปลงราว 2-3 เซนติเมตร ควรปลูกสลับฟันปลา นอกจากนี้ควรทำหลังคาพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์ไว้ จนกว่าต้นไม้จะตั้งตัว รากเจริญเติบโตดี
            สำหรับกล้วยไม้ดินสกุลเอื้องดินใบหมากและสกุลเอื้องไผ่นั้น ควรปลูกลงในแปลงที่ใช้ดินใบก้ามปูผสมกับหินก่อสร้างหรือถ่านขนาดเล็กในอัตรา 1 : 3 เนื่องจากกล้วยไม้ 2 สกุลนี้ไม่ชอบสภาพชื้นแฉะ อย่างไรก็ตามเอื้องไผ่นั้นทนต่อสภาพน้ำขังได้ดีกว่าเอื้องดินใบหมาก การที่กล้วยไม้ 2 สกุลนี้จะถูกนำไปปลูกร่วมกับพืชอื่นๆในสวนหย่อมใกล้ตัวอาคาร หลังจากปลูกแล้วจึงไม่จำเป็นต้องให้ร่มเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนกล้วยไม้สกุลเพชรหึงษ์นั้นอาจปลูกบนแปลงประเภทเดียวกับแปลงมอคคาราได้ เนื่องจากมีระบบรากกึ่งอากาศ
            การปลูกกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่นั้น กล้วยไม้สกุลเข็ม แวนดา กุหลาบ และช้างนั้นจะใช้เอ็นผูกยึดไว้กับต้นไม้ใหญ่ที่ระดับซึ่งไม่ต่ำกว่าระดับสายตา หลังถอดต้นออกจากภาชนะปลูกเดิมแล้ว ทั้งนี้จุดที่ผูกยึดโคนต้นกล้วยไม้นั้นไว้จะต้องไม่ร่มหรือแดดจัดจนเกินไป โดยอาจตอกตะปูช่วยยึดก็ได้ เพราะสภาพร่มจัดจะทำให้ต้นกล้วยไม้อ่อนแอต่อโรค และยังทำให้ไม่ออกดอกอีกด้วย ขณะที่สภาพแดดจัดจะทำให้ใบและต้นไหม้ตายได้ ส่วนกล้วยไม้สกุลคัทลียา ซิมบีเดียม ออนซีเดียม และหวาย จะต้องหันลำลูกกล้วยที่มีอายุน้อยที่สุดเข้าหาต้นไม้ใหญ่ก่อนใช้เอ็นผูกยึดโคนต้น พร้อมวัสดุปลูกเดิมและลำลูกกล้วยไว้กับต้นไม้ (ในกรณีที่ลำลูกกล้วยยาวมากจะทำให้ล้มได้) ห้ามเอากาบมะพร้าวหุ้มโคนต้น แล้วผูกยึดกับต้นไม้โดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้โคนเน่าตายได้
             จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการยกระดับคุณค่าของตัวบ้าน อาคารสถานที่โดยการนำกล้วยไม้มาปลูกประดับแสดงถึงรสนิยมของเจ้าของบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ยากอย่างที่หลายคนคิด การเลือกต้นกล้วยไม้ให้ถูกกับรสนิยมของเจ้าของบ้านก็เป็นเรื่องที่ง่ายเช่นกัน เพียงแค่ไปเดินเลือกตามสถานที่แหล่งจำหน่ายกล้วยไม้อย่างกว้างขวาง

       แหล่งข้อมูล : บทความการปลูกกล้วยไม้ประดับสถานที่, สวนและต้นไม้     



-- บทความที่น่าสนใจ ( ไม้ดอกในร่ม ) --

           เมื่อกล่าวถึงไม้ประดับในร่มที่นิยมปลูกกันทั่วไปตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือปลูกตามสำนักงานหรือสถานที่ต่างๆก็ดี จะสังเกตได้ว่าต้นไม้เหล่านั้นอาจเป็นต้นไม้ที่ปลูกในที่แสงสว่างส่องถึง หรืออาจอยู่ใต้ร่มไม้ หรืออาจเป็นต้นไม้ที่ไม่ได้รับแสงตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วอาจแยกไม้ประดับในร่มนี้ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือไม้ดอกในร่ม และไม้ใบในร่ม ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะไม้ดอกในร่มเท่านั้น กลุ่มไม้ดอกในร่มที่มีลักษณะเด่นและมีการค้าขายเฉพาะกลุ่มต้นไม้นั้นๆได้แก่ สับปะรดสี หน้าวัว แอฟริกันไวโอเล็ต เหลืองคีรีบูน เดหลี ขิงแดง เป็นต้น ซึ่งต้นไม้ที่กล่าวมานี้ หากปลูกเลี้ยงในที่ร่มจริงๆ อาจจะไม่ออกดอกเลย แต่ถ้าเลี้ยงในเรือนเพาะชำ หรือเรือนกระจก ต้นไม้เหล่านั้นก็จะสามารถให้ดอกได้ ดังนั้นหากนำมาปลูกเลี้ยงในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมเหมือนเรือนกระจกก็อาจจะเจริญเติบโตได้ หากเมื่อหมดดอกแล้วก็ควรนำออกมาไว้นอกบ้านแล้วบำรุงรักษาทำให้ต้นกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมก็จะสามารถเจริญเติบโตและออกดอกให้ชื่นชมในฤดูต่อไปอีก อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ง่ายนักโดยเฉพาะเบญจมาศ คริสต์มาส เหมาะที่จะปลูกลงดินไว้ในสวนมากกว่า ส่วนบางชนิด เช่น ลิปสติก พรมกำมะหยี่ สับปะรดสี แอฟริกันไวโอเล็ต หากอยู่ในบ้านก็ควรนำออกไปให้ได้รับแสงบ้าง โดยย้ายไปไว้ที่ระเบียงหรือที่อื่นๆที่มีแสงส่องถึง หากไม่มีระเบียงก็คงต้องเอาลงไปไว้ในเรือนกระจกที่มีหลังคากันฝนได้ กล่าวโดยสรุปก็คือการปลูกเลี้ยงไม้ดอกในร่มจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้นไม้นั้นจะต้องได้รับแสงบ้าง หากเอามาตั้งวางประดับในบ้านเป็นครั้งคราวก็พอทำได้ แต่เมื่อดอกหมดแล้วก็จำเป็นต้องเอาลงไปไว้ที่เดิม
         การปลูกเลี้ยงและการดูแล
              สถานที่ตั้ง  หากจะนำมาตั้งวางประดับในบ้าน หรือห้องทำงานควรเลือกตำแหน่งที่ตั้งให้ใกล้หน้าต่างมากที่สุด ไม่ควรให้แสงจากดวงอาทิตย์ส่องโดยตรงกับต้นไม้ นอกจากนั้นบริเวณที่ตั้งวางต้องมีอากาศโปร่งเพราะต้นไม้ไม่ชอบบริเวณที่อับและร้อน ดังนั้นแสงสว่างและการไหลเวียนของอากาศนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก
              การให้น้ำ ไม้ดอกกระถางเป็นต้นไม้ที่ต้องการน้ำมาก หากไม่ต้องการให้ต้นเหี่ยวเฉาก็ควรให้ดินมีความชื้นสม่ำเสมอ และไม่ควรปล่อยให้ดินแห้ง หรือแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลา ควรเลือกจานรองที่ใหญ่กว่ากระถางและเอากรวดละเอียดหรือทรายหยาบใส่ไว้ โดยกรวดที่อยู่ในจานรองต้องชื้นอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้ต้นไม้อยู่นอกระดับน้ำที่เกินต้องการ ( หลายคนมักจะฆ่าต้นไม้ของตนเองโดยการให้น้ำมากเกินไป ) และเพื่อเพิ่มความชื้นในดินและในอากาศรอบๆต้นไม้ สำหรับการให้น้ำจากฝักบัวก็จะทำให้ใบมีความชื้น และเป็นการล้างทำความสะอาดใบไปด้วย
         ข้อควรจำ
           - การเลือกซื้อตันไม้ควรเลือกซื้อก่อนปีใหม่ เพราะจะมีต้นไม้สวยๆออกมาในระยะนี้ และควรเลือกต้นที่มีดอกตูมติดอยู่ด้วย
           - การให้ปุ๋ยทางใบ เช่น ปุ๋ยเม็ดละลายช้า ปุ๋ยปลา หรือปุ๋ยอะไรที่เราใช้เป็นประจำต้องใส่ตามคำแนะนำในฉลาก
           - การตัดแต่ง ควรเก็บหรือตัดดอกที่ดำหรือเน่าทิ้ง รวมทั้งเมล็ดด้วย เพราะจะทำให้ต้นอ่อนแอ และทำให้ช่วงฤดูดอกสั้นลงด้วย
           - ถ้าหากต้นอยู่ในกระถางเล็กและดินแห้งเร็ว ให้เปลี่ยนกระถางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
           - การให้น้ำควรให้อย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ดินแห้ง เพราะจะทำให้ตาดอกเสียและดอกไม่บานหรือบานน้อยลง
     ตัวอย่างไม้ดอกในร่มบางชนิด
         สับปะรดสี ( Bromeliads )  อยู่ในวงศ์เดียวกับสับปะรดเป็นพืชแถบบราซิลและอเมริกาใต้ พบขึ้นบนต้นไม้สูง ตามก้อนหิน หรือขึ้นตามดิน การออกดอกของสับปะรดสีมักจะออกเมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่ บางสกุลดอกบานอยู่แค่ 1 อาทิตย์ แต่มีหลายชนิดบานทนมาก นอกจากนี้หากต้นเจริญเต็มที่จะมีการบังคับให้ออกดอกตามเลาที่ต้องการได้ด้วยเอทีลีน หรือแคลเซียมคาไบด์
         สับปะรดสีมีไม่ต่ำกว่า 2,000 ชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดที่มีดอกสวยเท่านั้น เช่น
            - Aechmea ดอกมักจะเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายยอด และก้านช่อดอกยาว ดอกมีสีสด เช่น A.fasciata สับปะรดหัวไม้ขีด การปลูกสายพันธุ์นี้สามารถใช้เครื่องปลูกแบบกล้วยไม้ได้หรืออาจผสมด้วยพีทมอส ต้องการแสงสว่างแต่ต้องพรางแสง น้ำปานกลาง อาจให้น้ำแบบพ่นหมอก และควรให้ปุ๋ยน้ำทางดินทุกเดือน เมื่อออกดอกแล้วต้นจะตายแต่สามารถใช้หน่อปลูกเป็นต้นใหม่ได้ ซึ่งจะให้ดอกได้ในปีถัดไป
            - Guzmania สับปะรดสีชนิดนี้มีใบมันและมีดอกสวย เช่น G.linglata เป็นต้น เป็นชนิดที่ต้องการแสงสว่างน้อย แต่ถ้าอยู่ในห้องก็ต้องมีแสงสว่างพอสมควร วัสดุปลูกต้องชื้นอยู่ตลอดเวลา และควรให้ปุ๋ยทางใบเดือนละครั้ง ส่วนการขยายพันธุ์สามารถแยกหน่อหรือเพาะเมล็ดได้
            - Tillandsia เป็นสับปะรดสีชนิดกินอากาศ หรือเรียกว่า Air plant เป็นพืชที่อยู่บนต้นไม้ หรือบนเสา หรือแขวนไว้กลางอากาศ บางครั้งใส่ไว้ในกระถางและอยู่ในที่ร่มได้ ต้นที่มีดอกสวยคือ T.cyanea เป็นพืชที่ต้องการแสงสว่างที่มีการพรางแสง หรืออยู่ใต้ต้นไม้ก็ได้ ชอบความชื้นจึงควรให้น้ำที่ใบด้วย รวมทั้งควรให้ปุ๋ยใบเดือนละครั้ง
         พืชในสกุลหน้าวัว หรือ Anthurium  หน้าวัวที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป มีชื่อสามัญว่า Wax Flowers เป็นพืชที่มีความนิยมสูง สามารถปลูกเลี้ยงในบ้านได้ จัดเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์รวมถึงมีการนำพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศเข้ามาปลูกเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย ออกดอกตลอดปีและดอกมีอายุการใช้งานนาน มีด้วยกันหลายชนิด เช่น Anthurium andreanum, Anthurium hybrid, A.schezerianum เป็นต้น
             การปลูกและการปฎิบัติดูแลบำรุงรักษา : หน้าวัวเป็นพืชที่ไม่ชอบแดดจัดและลมโกรก ต้องการความชื้นสูง ต้องการแสง 20-30 % หรือร่มประมาณ 70-80 % เหมาะที่จะปลูกในโรงเรือน วัสดุปลูกต้องโปร่ง อุ้มน้ำหรือเก็บความชื้นได้ดี ยึดรากและลำต้นได้ดี มีการย่อยผุสลายช้า ชั้นล่างสุดใช้ทรายหยาบ อิฐทุบ และปุ๋ยหมัก สำหรับการใส่ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 อัตรา 1 ช้อนชา/ต้น/เดือน ร่วมกับปุ๋ยละลายช้าทุก 3 เดือน รวมทั้งใช้ปุ๋ยเกล็ดละลาย 15-30-15 อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 20 วัน ส่วนโรคและแมลงจะพบโรคใบจุดและโรคเน่า รวมทั้งอาจมีหอยทากกัดกินใบและดอกด้วย
             การขยายพันธุ์ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปักชำยอด ทำได้เมื่อต้นยังเล็ก หรือยอดสูงเกินไปโดยให้มีใบติด 4-5 ใบ ปักชำในที่ที่มีความชื้นสูง ส่วนการปักชำต้นทำได้เมื่อต้นแก่มีอายุมาก โดยสามารถตัดต้นเป็นท่อนๆละประมาณ 3 ข้อ ปักชำในวัสดุที่มีความชื้นสูงแต่ไม่แฉะ การแยกหน่อควรตัดหน่อใหญ่ที่มีรากจะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็ว

      แหล่งข้อมูล : การปลูกเลี้ยงหน้าวัว, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1, กรมวิชาการเกษตร  บทความไม้ดอกในร่ม, สวนและต้นไม้
 



-- บทความที่น่าสนใจ ( (ไม่) สับสนกับผลไม้ ) --

       ในรูปแบบการจัดสวน บางครั้งเราก็จะออกแบบให้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เป็นมุมของพืชสวนครัวซึ่งก็มีทั้งสวนสมุนไพร พืชสวนครัว รวมไปถึงไม้ผลชนิดต่างๆ หรือแม้ในบางครั้งบ้านที่ต้องการปรับปรุงสวนรวมถึงการปรับปรุงสนามใหม่ ทางเราก็มีการแนะนำให้กับลูกค้าในการใช้ไม้ผลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบจัดสวนด้วยเช่นกัน ซึ่งไม้ผลบางชนิดก็อาจทำให้เรามีความสับสนทั้งในชื่อ และรูปทรงพรรณไม้ ลักษณะของใบ รวมถึงผลที่ออกมาก็มีลักษณะคล้ายๆกันอีกด้วย
       ในบทความนี้จะเอ่ยถึงไม้ผล 4 ชนิดที่มีความคล้ายคลึงกันได้แก่ ขนุนกับจำปาดะ มะปรางกับมะยงชิด สละกับระกำ และลางสาดกับลองกอง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถแยกความแตกต่างของไม้ผลแต่ละชนิดได้ไม่มากก็น้อย และสามารถนำไปต่อยอดศึกษาเพิ่มเติมได้อีก

           ขนุน (Jackfruit) กับ จำปาดะ (Champedak) : วงศ์ Moraceae 
              ถ้าผลของพืชสกุลนี้อยู่บนต้น คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะบอกว่าเป็นต้นอะไร เพราะมีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างกันโดยเฉพาะใบและลำต้น แต่ถ้านำผลมาวางรวมกันอาจเกิดความสับสนได้ โดยลักษณะผลของขนุนมีหลายลักษณะตั้งแต่กลมจนถึงกลมรี ผลมีกลิ่นหอมเมื่อสุก เนื้อยวงหนาและมีซัง
              ส่วนลักษณะของผลจำปาดะนั้น แม้จะมีลักษณะคล้ายกับผลขนุนแต่มีลักษณะผลกลมและยาว เมื่อสุกมียางน้อย ยวงเล็กสีออกแดงติดกับแกนหรือไส้ ผลไม่ติดกับเปลือกผลเหมือนขนุน เนื้อหนานิ่ม กลิ่นฉุน หวานจัด    

           มะปราง กับ มะยงชิด (Marain plum) : วงศ์ Anacardiaceae
              มะปรางกับมะยงชิดเป็นพืชในสกุลเดียวกัน แต่เกิดการกลายพันธุ์จากการเพาะเมล็ดทำให้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป มะปรางจึงถูกเรียกแยกออกเป็นหลายกลุ่ม โดยอาศัยลักษณะของรสชาติและขนาดของผลเป็นเกณฑ์ในการจำแนก เช่น มะปรางหวาน มะยงชิดมาก มะยงชิดน้อย (ผลสุกมีรสหวานแต่ออกไปทางเปรี้ยวมากกว่าหวาน) มะปรางเปรี้ยว (รสเปรี้ยวทั้งผลดิบและผลสุก โดยทั่วไปจะเป็นผลเล็ก) ส่วนลักษณะทรงพุ่ม ขนาดของใบ การเรียงตัวของใบ เส้นใบ สีและรสชาติของยอดอ่อน ยังไม่มีการศึกษาลักษณะเหล่านี้เพื่อคัดแยกความแตกต่างของพืชกลุ่มมะปราง
              ลักษณะที่แตกต่างกันของมะปรางหวานและมะยงชิด
                มะปรางหวาน ผลดิบมีรสมัน ส่วนผลสุกมีรสหวานหรือหวานจืด สีเหลือง ส่วนใหญ่ผลมีขนาดเล็กกว่ามะยงชิด บางสายพันธุ์เมื่อทานแล้วจะคันคอ
                มะยงชิด ผลดิบมีรสเปรี้ยว ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว สีเหลืองอมส้ม และผลขนาดใหญ่กว่ามะปรางหวาน เมื่อทานแล้วส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการคันคอ

            สละ (Salak palm) กับ ระกำ (Rakam) : วงศ์ Palmae/Arecaceae
               โดยลักษณะที่แตกต่างกันจะอยู่ในส่วนของลำต้น ใบ โดยเฉพาะผล ผลของระกำจะมีสีออกแดงเข้ม ผลค่อนข้างป้อมและสั้นกว่า ในขณะที่ผลของสละค่อนข้างยาว หนึ่งผลมี 2-3 กลีบ เนื้อบางสีน้ำตาลแดง ฉ่ำน้ำ เนื้อติดเมล็ด ส่วนสละนั้นผลจะมีสีน้ำตาลไหม้ ส่วนใหญ่หนึ่งผลมีกลีบเดียว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก และมีรสหวานกว่าระกำ

            ลางสาด (Langsat) กับ ลองกอง (Longkong) : วงศ์ Meliaceae
               ลางสาดกับลองกองเป็นพืชในสกุลเดียวกันที่มีลักษณะคล้ายกันมาก จนแทบจะแยกไม่ออกว่าลูกไหนคือลองกอง ลูกไหนคือลางสาด แต่ก็มีลักษณะที่พอสังเกตได้ก็คือ
               - ใบลางสาดจะมีลักษณะบางกว่าและใบมีรสขม แต่ใบลองกองไม่มีรสขม
               - ผลลางสาดมีขนาดเล็กกว่า เปลือกบางกว่าและมียางมากกว่า ผลลางสาดมีรสหวานอมเปรี้ยว ฉ่ำน้ำ
               - ผลลองกองจะมีเปลือกหนากว่า มีรสหวานกว่า เนื้อนุ่มและแห้ง

       นี่คือความแตกต่างที่เกิดจากความสับสนของผลไม้ที่เราพอจะสังเกตได้ ซึ่งอาจจะยังมีข้อแตกต่างอีกหลายอย่างที่ใช้ในการแยกลักษณะต่างๆของพืชออกจากกัน ซึ่งเมื่อได้ศึกษาหรือเรียนรู้บ่อยๆเราจะรู้ได้เองว่าแท้จริงแล้วพืชทุกสกุล ทุกชนิด หรือทุกพันธุ์ต่างก็มีลักษณะประจำที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

       แหล่งข้อมูล : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, 2552. สวนและต้นไม้ 2552.              

           

 

 

-- บทความที่น่าสนใจ ( การผลิตดินผสมที่มีคุณภาพดีโดยวิธีทางธรรมชาติ ) --   

           ดินผสมเป็นดินที่ใช้ในการปลูกพืชทั่วไป การจัดสวน ทำสนามหญ้ารวมไปถึงบำรุงรักษาสนามหญ้า โดยใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นผสมกับดิน เพื่อให้มีความโปร่งร่วนซุยเหมาะสำหรับปลูกต้นไม้ทั้งในกระถาง หรือในหลุมปลูกได้ทันที ในปัจจุบันมีผู้ผลิตดินผสมออกมาจำหน่ายให้กับผู้รับจัดสวนโดยบรรจุในถุงปุ๋ยน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม หรือจำหน่ายเป็นลูกบาศก์เมตรครั้งละไม่ต่ำกว่า 5-10 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

           ผู้ผลิตดินผสมแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ผู้ผลิตรายย่อยและผู้ผลิตรายใหญ่ โดยมีแหล่งผลิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร และในเขตจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งต้นทุนการผลิตจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

           การผลิตดินผสมประเภทรายย่อย ใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ ก็สามารถผลิตดินผสมเองได้โดยจะกองวัสดุสำหรับผสมเป็นดินผสมบนดินแล้วคลุมด้วยพลาสติกเพื่อกันฝนไม่ให้วัสดุเกาะตัวกันแน่น กองวัสดุจะเรียงเป็นแถวเพื่อความสะดวกในการขนย้ายเข้าหรือออก ภายในพื้นที่จะมีสำนักงาน อาคาร สำหรับเก็บดินผสมที่ผสมเสร็จแล้วเป็นอาคารโปร่งมีผนังสูง 4-6 เมตร หลังคาสังกะสี มีลานซีเมนต์สำหรับผสมดิน โดยใช้แรงงานในครอบครัว ตักวัสดุซึ่งมีดิน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก แกลบดิบ และขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1 : 1 : 2 : 6 คลุกให้เข้ากันด้วยจอบพลั่ว หรือใช้โม่ผสมปูนเป็นเครื่องผสมดิน เมื่อผสมเสร็จแล้วจะบรรจุใส่ถุงปุ๋ยตามแต่ละตราสินค้าแล้วเย็บถุงด้วยเครื่องเย็บถุงแบบมือถือ การบรรจุจะใช้วิธีกะขนาดตามแต่ละขนาดถุง ผู้ผลิตรายย่อยจะไม่ขายดินผสมแบบเป็นลูกบาศก์เมตร แต่จะขายแบบบรรจุถุงอย่างเดียว

            การผลิตดินผสมประเภทรายใหญ่ ใช้พื้นที่ 5-6 ไร่ มีสำนักงาน อาคารที่มีหลังคาคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ พื้นเป็นคอนกรีต ในอาคารจะกองวัสดุไว้ในระหว่างช่องเสา ดินประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1,000 ลูกบาศก์เมตร แกลบดิบ 500 ลูกบาศก์เมตร และขุยมะพร้าวหรือมะพร้าวสับ 500 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่อีกด้านหนึ่งของอาคารจะเป็นซองเก็บดินที่ผสมแล้ว ผนังทั้งสามด้านเป็นอิฐบล็อคฉาบปูนสูง 4-6 เมตร การผสมดินจะใช้รถตักดินและส่วนผสมอื่นๆมากองอยู่บริเวณช่วงกลางของอาคารตามอัตราส่วน ดิน : ปุ๋ย : แกลบดิบ : ขุยมะพร้าว = 1 : 1 : 2 : 6 ซึ่งอัตราส่วนนี้จะแตกต่างกันบ้างในผู้ผลิตแต่ละราย แต่ก็มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือให้ดินผสมเบาสะดวกในการขนย้าย เมื่อรถตักผสมดินให้เข้ากันดีแล้วจะนำมาเก็บในซองขนาดใหญ่และแบ่งส่วนเพื่อบรรจุถุง และขายเป็นลูกบาศก์เมตร

            จากประสบการณ์การรับจัดสวน ปัญหาสำคัญของดินผสมในปัจจุบันคือเรื่องคุณภาพ ดินผสมจะมีส่วนผสมของดินน้อยขุยมะพร้าวมากเพื่อทำให้ดินผสมมึน้ำหนักเบาขนย้ายง่ายและไม่ค่อยยุบตัว เมื่อนำดินผสมไปใช้เพื่อปลูกต้นไม้หรือจัดสวนทั่วไปทั้งในกรณีปลูกต้นไม้ใหญ่ หรือปลูกไม้พุ่มเมื่อนำดินผสมใส่ลงในหลุมแล้วปลูกต้นไม้ระยะแรกที่รดน้ำ น้ำจะซึมผ่านดินผสมได้ดี เมื่อผ่านไป 1-2 อาทิตย์ ขุยมะพร้าวและแกลบสดซึ่งมีน้ำหนักเบาจะลอยตัวขึ้นมาเกาะตัวที่ผิวบนทำให้น้ำซึมผ่านได้ยาก เมื่อรดน้ำได้ระยะหนึ่งน้ำจะนองบริเวณด้านบน แต่ด้านล่างดินจะแห้งเป็นเหตุให้ต้นไม้เหี่ยวแห้งเพราะขาดน้ำ ดินผสมจะยุบตัวลงมากเพราะโปร่งเบาทำให้ต้องเติมดินผสมอีก วิธีที่ถูกต้องในการรักษาดูแลสวน ตกแต่งสวนควรจะใช้ดินเดิมที่เป็นหน้าดินดีย่อยให้ละเอียดผสมกับดินผสมอย่างละครึ่งแล้วใส่ลงในหลุมปลูกจะช่วยให้การระบายน้ำดีกว่าการใช้ดินผสมล้วนๆ และทำให้งานภูมิทัศน์โดยรวมของสวนแห่งนั้นสวยงาม น่ามอง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

             การแก้ไขปัญหาคุณภาพดินผสมโดยการผลิตดินผสมที่มีคุณภาพดีโดยวิธีธรรมชาติ การผลิตดินผสมที่มีคุณภาพดีโดยวิธีธรรมชาติทำได้โดยการนำใบร่วงหรือแห้งของตันก้ามปู หรือต้นจามจุรี ที่ทับถมบนดินประมาณ 3-6 เดือนที่เริ่มย่อยสลายพอควรแล้วมาผสมกับหน้าดินในอัตราส่วน 80 : 20 เมื่อนำมาใช้จัดสวน ปลูกพืชพรรณ ทั้งในแบบการรับจัดสวนตามบ้านที่อยู่อาศัย หรือแบบที่เจ้าของบ้านจัดสวนเอง ก็พบว่าดินโปร่งมีการระบายน้ำดีค่าความเป็นกรดและด่างเป็นกลาง มีความชื้นสม่ำเสมอ ถึงแม้จะปลูกพืชไปนานแล้วก็ยังมีคุณภาพเหมือนเดิม แต่มีอัตราการยุบตัวสูงต้องเติมดินผสมลงในแปลงปลูกเรื่อยๆ ต้นไม้ที่เลี้ยงยากบางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในดินผสมใบก้ามปู เช่น กุหลาบ เฟิร์น

              การผลิตจากการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์โดยการลงทุนน้อยและการดูแลรักษาต่ำคือการปลูกต้นก้ามปู เพื่อผลิตเป็นดินผสมต้องใช้พื้นที่กว้างและระยะเวลา 4-5 ปี ต้นก้ามปูเป็นไม้ยืนต้นที่โตเร็ว แข็งแรง สามารถเจริญเติบโตเองได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยควรขุดคูน้ำตื้นๆ เพื่อให้ใบก้ามปูที่ร่วงลงไปสามารถย่อยสลายได้ง่าย เมื่อต้องการใช้ก็ตักดินมาเกลี่ยบนพื้นผึ่งให้แห้ง เก็บกิ่งไม้ใหญ่ๆและฝักต้นก้ามปูออก นำไปผสมกับหน้าดินแล้วบรรจุถุงขายได้ ดินผสมระหว่างหน้าดินและใบก้ามปูที่ย่อยสลายพอสมควรจะเป็นส่วนดินผสมที่ดีที่สุดนำมาใช้จัดสวน ปรับปรุงสวน จัดสวนแบบง่ายได้ด้วยตัวเอง ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของดินผสมจึงเป็นที่ต้องการมากในท้องตลาด และนักออกแบบสวน แต่ก็หาได้ยากเพราะไม่ค่อยมีผูผลิตเท่าที่ควร การผลิตดินผสมที่มีคุณภาพดีโดยวิธีธรรมชาตินี้จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยและรายใหญ่ กระจายไปตามจังหวัดต่างๆช่วยลดการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เนื้อไม้ของต้นก้ามปูสามารถนำมาแกะสลักทำเครื่องประดับบ้านได้ อีกทั้งช่วยสร้างธรรมชาติที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้แก่พื้นที่ว่างเปล่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผลิตเพื่อขายแต่ก็เป็นประโยชน์กับเจ้าของที่ดินเพื่อใช้ปลูกต้นไม้อื่นๆ จัดทำสวน หรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของตนเอง

        แหล่งข้อมูล : การผลิตดินผสมที่มีคุณภาพดีโดยวิธีทางธรรมชาติ, วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้