image

การจัดสวนอย่างสนุกสำหรับ.. เด็ก   

    การจัดสวนสำหรับคนต่างวัยมักแตกต่างกันผู้ใหญ่มักต้องการสวนที่สวยงามส่วนเด็กจะคำนึงถึงสวนที่มีพื้นที่สำหรับเล่น ดังนั้นหากจะจัดสวนเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทั้งครอบครัวจึงควรจัดสวนที่มีทั้งความสวยงามและมีพื้นที่ให้เด็กๆได้เล่นอย่างสนุกสนาน สำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กจนถึงวัยกำลังซนหากมีพื้นที่สวนเพียงพอควรจัดที่จัดทางให้เขาเล่นอย่างเป็นสัดส่วนโดยให้อยู่ในบริเวณที่ผู้ใหญ่สามารถมองเห็นแต่สำหรับบ้านที่มีเด็กโตอาจจัดพื้นที่สำหรับเล่นให้ห่างจากมุมพักผ่อนหรือมุมรับแขกออกไปหรืออาจใช้วิธีปลูกต้นไม้บังเพื่อป้องกันเสียงดังรบกวน 
      สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆในการจัดสวนสำหรับเด็กคือเรื่องของความปลอดภัยทั้งจากสัตว์ร้ายและต้นไม้มีพิษ สวนสำหรับเด็กควรหลีกเลี่ยงต้นไม้ที่มีหนามแหลมหรือมียางอันนำไปสู่อันตรายเพราะเด็กเล็กอาจเผลอหยิบเข้าปากโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้นไม้ที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ลำโพง อากาเว่ กุหลาบเมาะลำเลิง เป็นต้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงสารฆ่าแมลงในสวนโดยเฉพาะหากมีไม้ผลที่เด็กสามารถเด็ดกินได้ส่วนในเรื่องความปลอดภัยจากสัตว์มีพิษอย่างงูอาจป้องกันได้โดยการจัดสภาพแวดล้อมในสวนไม่ให้รกหรือทึบเกินไป โดยมีการตัดแต่งสางพุ่มใบที่ทึบออกบ้างเพื่อให้มีแสงลอดผ่านได้อย่างทั่วถึง 
      สำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กหากต้องการบ่อน้ำประดับสวน ควรทำรั้วกั้นอย่างเป็นสัดส่วนเพื่อบ้องกันพลัดตกลงน้ำหรืออาจทำเป็นสระน้ำตื้นๆเพื่อให้เด็กได้ว่ายเล่น 
      การจัดสวนโดยการสร้างสีสันและชีวิตชีวาให้กับสวนสำหรับเด็กนั้นทำได้ไม่ยากเพียงหาของตกแต่งที่เด็กสนใจและเหมาะกับวัย เช่น ตุ๊กตาสัตว์รูปแบบต่างๆ หรือจัดวางเครื่องเล่นที่มีสีสันสวยงามอย่างชิงช้า ม้านั่งสีสวย หรือม้าโยกเยก รวมถึงหากิจกรรมง่ายๆที่ช่วยให้เด็กได้ใกล้ชิดกับสวนและต้นไม้ เช่น การปลูกและรดน้ำต้นไม้จะทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตในสวนช่วยสร้างความอ่อนโยนและรักธรรมชาติหรือทำสิ่งประดิษฐ์เล็กๆน้อยๆในสวนที่คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยทำได้ นอกจากช่วยปลูกฝังให้เด็กมีใจรักศิลปะแล้วยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวอีกด้วย

image

แบบการจัดสวนในบริเวณบ้าน

    การจัดสวนในบ้าน ก็เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่บ้านเรือน และการจัดสวนทำให้เกิดความร่มรื่นเป็นที่น่าอยู่น่าอาศัย ในการจัดสวนถ้าไปจ้างเขาจัดก็จะทำให้สิ้นเปลืองบ้าง แต่หากเจ้าของบ้านมีความสนใจและหาความรู้ในเรื่องหลักการจัดสวนบ้าง ก็สามารถจะจัดสวนเองได้ นอกจากจะไม่เป็นการสิ้นเปลืองมากนัก ยังทำให้ครอบครัวมีความสุขในการได้จัดสวนร่วมกัน 
      หลักการจัดสวน หลักง่ายๆของการจัดสวน อยู่ที่การรู้จักเลือกต้นไม้ โดยคำนึงถึงความสูงต่ำ ทรงพุ่ม ลักษณะผิวของใบ ลักษณะสภาพการเจริญเติบโต รู้จักเลือก หิน กรวด วัสดุอื่นๆ ที่ช่วยในการจัดสวน 
      - การจัดสวนภายนอกอาคาร : เป็นการจัดสวนโดยอาศัยความสอดรับลงตัวของลักษณะกลุ่มต้นไม้ ซึ่งถ้ามีหินที่มีรูปทรงสวยงามมาเป็นองค์ประกอบการจัดสวนด้วยแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงลำดับแรกคือ การจัดสวนอาศัยกฎสามเหลี่ยม ขั้นแรกวางหินหลัก (ก้อนสูง) และหินประกอบ (ก้อนกลางและก้อนต่ำ) เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วใช้ต้นไม้ระดับสูงปานกลางปลูกใกล้หินก้อนใหญ่ ปลูกไม้พุ่มต่ำแทรกระหว่างก้อนหิน (ก้อนกลางและก้อนต่ำ) เลือกสีของต้นไม้ที่แตกต่างกัน เป็นต้น 
      - การจัดสวนภายในอาคาร : การจัดสวนภายในบ้านก็เพื่อจะเพิ่มสีเขียวให้แก่อาคาร การจัดสวนแบบนี้ควรใช้ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางมาวาง แล้วนำมาเปลี่ยนเมื่ออยู่ได้หนึ่งหรือสองสัปดาห์ ขอยกตัวอย่างเช่นต้นไม้หลักประกอบด้วยต้นจั๋ง ต้นไม้รองได้แก่ ต้นเฟิร์นข้าหลวงหลังลาย หมากผู้หมากเมีย เฟิร์นก้านดำ อาจจะมีวัสดุตกแต่งสวน อาทิเช่น ตะเกียงญี่ปุ่น ก้อนหินขนาดย่อมและเล็กมาประกอบด้วย ส่วนด้านหน้าโรยกรวดเพิ่มเติมก็จะได้สวนในอาคาร เป็นต้น

image

น้ำตกในสวน

     สาเหตุที่มนุษย์นิยมทำน้ำตกไว้ในสวน เนื่องจากต้องการนำธรรมชาติมาไว้ใกล้ๆตัว การจัดสวนแต่เพียงอย่างเดียวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายไม่มากเท่าเมื่อมีเสียงน้ำประกอบในสวน ผู้เข้ามาในสวนนอกจากได้พักผ่อนแล้วยังรู้สึกสดชื่นเย็นสบายผ่อนคลายจากความตึงเครียดและเหนื่อยล้า จึงมีผู้ริเริ่มนำรูปแบบของน้ำตกธรรมชาติเข้ามาไว้ในสวน จากนั้นจึงพัฒนาเป็นน้ำตกรูปแบบอื่นๆต่อไป
     จากลักษณะพื้นที่ที่แตกต่างและจุดประสงค์อันหลากหลาย จึงเกิดน้ำตกในสวน 2 รูปแบบหลักๆ คือ
     น้ำตกธรรมชาติ ซึ่งจัดสร้างเลียนแบบน้ำตกในธรรมชาติ และน้ำตกสมัยใหม่ ที่ตัดทอนเส้นสายให้เรียบง่ายมากขึ้น การจะเลือกน้ำตกรูปแบบใดไว้ในสวน นอกจากขึ้นกับความชอบแล้วยังขึ้นกับขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ รูปแบบของสวน อาคาร หรือสถาปัตยกรรมอีกด้วย
     ส่วนประกอบของน้ำตก จะมีส่วนประกอบหลักๆ คือ
- ตัวน้ำตกและแอ่งพักน้ำ ตัวน้ำตกมักวางอยู่บนเนินที่มีฉากหลัง ซึ่งฉากหลังที่ดีในสวนได้แก่ กำแพง ผนัง รั้ว หรือแนวไม้ยืนต้น ไม้พุ่มขนาดต่างๆทั้งเล็กและใหญ่ขึ้นไปรับฐานน้ำตก เพื่อสร้างเรื่องราวความเป็นป่าต้นน้ำ ส่วนตัวน้ำตกธรรมชาติที่เหมาะกับบ้านทั่วไปควรสูงจากระดับน้ำในบ่อเลี้ยงปลา 1.50-2 เมตร นับเป็นขนาดที่ประหยัดฐานรากและโครงสร้าง ทั้งยังจัดให้สวยงามและเป็นธรรมชาติได้ง่าย
- แอ่งรับน้ำตก อยู่บริเวณชั้นล่างสุดของตัวน้ำตกก่อนเป็นธารน้ำที่ทอดยาวออกไป แอ่งรับน้ำช่วงนี้ควรกว้างและลึกกว่าลำธารพอสมควร ตกแต่งพรางหินให้เป็นธรรมชาติ มีทางบังคับให้เอ่อล้นไหลไปตามธารน้ำ
- ลำธาร สำหรับลำธารที่มีความยาวตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไปนั้น ควรออกแบบให้มีชั้นลดหลั่นอีกสักหนึ่งชั้นเพื่อให้เกิดความแตกต่างของระดับน้ำ ให้น้ำที่ไหลเห็นเป็นกระแส บริเวณช่วงของลำธารที่ทอดยาวคดโค้งนั้นสามารถกำหนดทิศทางการไหลของน้ำได้โดยการวางหินดักน้ำเพื่อสร้างความแตกต่างของผิวน้ำซึ่งมีผลต่อการมองได้อีก 
- บ่อ บ่อน้ำตกเป็นบริเวณสุดท้ายที่น้ำไหลมารวมกัน ตำแหน่งของบ่อควรอยู่บนที่ราบ บ่อในสวนน้ำตกรูปแบบธรรมชาติจะมีลักษณะโค้งเว้า และส่วนที่ลึกสุดของบ่อหรือสะดือบ่อจะมีท่อต่อไปยังบ่อกรองหรือบ่อพัก ส่วนของขอบบ่อจะวางหินให้ปริ่มน้ำ บางส่วนก็ปลูกพันธุ์ไม้ประกอบเช่นเดียวกับส่วนของลำธาร 
- บ่อกรอง ถ้าน้ำตกที่สร้างขึ้นแล้วจะมีการเลี้ยงปลาสวยงาม ต้องการน้ำที่ใสสะอาด มีการบำบัดที่ดีควรมีบ่อกรองด้วย ขนาดบ่อกรองควรมีขนาดไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของบ่อเลี้ยง ต้องมีสัดส่วนของห้องกรองที่เหมาะสม และวางระบบให้ล้างทำความสะอาดได้สะดวก มีฝาปิดมิดชิด ภายในบรรจุเครื่องกรองด้วยวัสดุต่างๆที่ถูกหลักในการกรอง

แหล่งข้อมูล : บทความรู้ด้านน้ำตกในสวน ด้านการเกษตร และประสบการณ์ทำงานจัดทำน้ำตก น้ำพุและลำธาร โดยตรง

image

การสร้างสนามหญ้า

    สิ่งสำคัญในการออกแบบจัดสวนที่ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่จะเสริมสร้างงานด้านจัดสวนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นคือ สนามหญ้า เพราะการมีสนามหญ้าที่สวยงามเขียวขจี มีคุณภาพดี ทำให้ยกระดับสวนแห่งนั้นให้สวยงาม มีชีวิตชีวา ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินตา เพลิดเพลินใจในการชมสวนเป็นอย่างยิ่ง 
     ดังนั้นการสร้างสนามหญ้าที่ดีมีคุณภาพจึงมีความสำคัญมากสำหรับนักออกแบบจัดสวน อันจะช่วยให้การสร้างสนามหญ้าดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ ขั้นตอนการสร้างสนามหญ้าที่สำคัญนั้นมีดังต่อไปนี้
     1. การวางแผนงาน สิ่งที่จะต้องดำเนินการในขั้นนี้แบ่งเป็น
      - การวิเคราะห์พื้นที่ ก่อนลงมือสร้างสนามหญ้าในการจัดสวนควรศึกษาสภาวะสิ่งแวดล้อมภายในบริเวณ เพื่อทราบสภาพที่แท้จริง อาทิ ความลาดเอียงของพื้นที่ ระดับสูงต่ำที่จะสัมพันธ์กับการระบายน้ำ ที่ตั้งของสนามและทิศทางของแสงที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สนาม ตลอดจนร่มเงาที่จะบดบังหญ้าให้เสียหาย สิ่งที่จะขาดเสียมิได้และจะต้องสำรวจเพิ่มเติมก็คือ บริเวณจะสร้างสนามหญ้านั้นมีสิ่งสาธารณะอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น ท่อระบายน้ำ ท่อประปา สายโทรศัพท์ ฯลฯ ตลอดจนสิ่งกีดขวางอื่นๆที่จะเป็นอุปสรรคเมื่อลงมือปฎิบัติงาน 
      - การวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้สนาม เป็นการวิเคราะห์ทางด้านจิตวิทยาของเจ้าของสนาม เพื่อจะทราบว่าเขาสร้างสนามขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการอะไรบ้าง เพราะบางคนอาจจะเน้นในเรื่องความสวยงามควบคู่ไปกับสถาปัตยกรรม บางคนอาจจะเน้นในการใช้เพื่อพักผ่อนในยามแดดร่มลมตกระหว่างสมาชิกในครอบครัว บางคนอาจจะมีสนามหญ้าเพื่อเป็นที่จัดงานสโมสร ตลอดจนสนามกีฬาประเภทต่างๆ ประโยชน์ใช้สอยอื่นๆที่คุ้มค่า
      - งบประมาณ เราจะต้องพิจารณาตั้งงบประมาณให้รอบคอบและถี่ถ้วน ไม่ให้เกิดการคลาดเคลื่อนหรือบานปลาย รายละเอียดงบประมาณที่ควรจะพิจารณาได้แก่ ค่าแรงงาน การเตรียมดิน การปลูก และวัสดุอุปกรณ์อันรวมถึงค่าอุปกรณ์ในสนาม เช่น อุปกรณ์การให้น้ำ การระบายน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้า ทางเดินในสนามหญ้า พันธุ์หญ้า การเตรียมหน้าดิน ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ถ้าหากเป็นที่ลุ่มซึ่งจะต้องถมดินให้ได้ระดับก็จะต้องจัดงบประมาณส่วนนี้ไว้ด้วย
      - การออกแบบสนามหญ้า สนามหญ้าที่เราจะสร้างก็มีหลายประเภท เช่น สนามหญ้าภายในบริเวณบ้าน ที่พักอาศัย สำนักงาน สนามกีฬาและสวนสาธารณะ เป็นต้น โดยเฉพาะสนามหญ้าที่สร้างขึ้นเพื่อประดับตกแต่งบริเวณ ก็ยังมองในรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปอีก กล่าวคือ เราอาจจะสร้างเฉพาะสนามหญ้าแล้วปลูกไม้ดอก พืชคลุมดิน ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นประดับเป็นส่วนประกอบบางจุด และการทำสนามหญ้าเพื่อเป็นส่วนประกอบการจัดสวนหย่อมให้สวยงามขึ้น ในกรณีเช่นนี้ "สนามหญ้าจะเป็นดุจพื้นพรมของสวนหย่อม" ที่จะส่งเสริมให้สวนหย่อมดูเด่นและสวยงามขึ้น การออกแบบสนามหญ้าภายในบริเวณบ้าน ที่พักอาศัยและสำนักงาน ควรจะคำนึงถึงสิ่งต่างๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย ได้แก่ จิตวิทยาผู้ใช้สนาม ประโยชน์ใช้สอย ความปลอดภัย ความสวยงาม และความสะดวกต่อการบำรุงรักษาสนามหญ้า
      - พันธุ์หญ้าที่จะใช้ การพิจารณาจะเลือกใช้พันธุ์หญ้าอะไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ อาทิ ถ้าเป็นบริเวณที่มีร่มเงาอยู่แล้ว หรือบริเวณที่ทำสนามหญ้าใหม่จะต้องมีการปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ให้ร่มเงา ก็ควรจะเลือกใช้พันธุ์หญ้าที่มีความทนทานต่อร่มเงาได้ดี เช่น หญ้ามาเลเซีย แต่ถ้าเป็นที่โล่งแจ้งแดดจัด ก็จะต้องเลือกใช้หญ้าที่ทนทานต่อแดดและอุณหภูมิสูง เช่น หญ้านวลน้อย นวลจันทร์ และญี่ปุ่น เป็นต้น 
     2. การเตรียมพื้นที่ การเตรียมพื้นที่และการเตรียมดินที่ดีจะช่วยทำให้สนามหญ้าราบเรียบ มีการระบายน้ำดี ปราศจากวัชพืชและมีความเป็นสนามหญ้าอยู่ได้นาน มีปัญหาการบำรุงรักษาน้อย สิ่งที่ควรจะพิจารณาในการเตรียมดิน ได้แก่ การปรับพื้นที่ การวางท่อระบายน้ำ การวางระบบการให้น้ำ การวางระบบไฟฟ้า การวางทางเดินในสนามหญ้า การเตรียมดินปลูกหญ้า
     3. การปลูกหญ้า เมื่อเราปรับแต่งหน้าดินเสร็จเรียบร้อยก็สามารถจะปลูกหญ้าได้เลย แต่สิ่งที่ควรจะพิจารณาก็คือ ฤทธิ์ตกค้างของยาปราบวัชพืชที่ใช้ระหว่างการเตรียมดิน ถ้าหากฤทธิ์ตกค้างยังไม่หมดก็จะเป็นอันตรายต่อหญ้าสนามที่จะปลูกได้ เราจะต้องรอจนฤทธิ์ยาหมดเสียก่อน ในทำนองเดียวกันนี้ ถ้าหากเราเตรียมดินทิ้งไว้หลายวัน หน้าดินอาจจะแน่นไม่สม่ำเสมอจะต้องพรวนหน้าดินใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ดินร่วนซุยและสะดวกต่อการปรับแต่งผิวหน้าสนาม ให้เหมาะสมกับการปลูกหญ้าต่อไป ซึ่งเราสามารถแยกเป็น 
     - การปลูกหญ้าด้วยเมล็ด ผู้ที่จะทำสนามหญ้าโดยใช้เมล็ดจะหาซื้อเมล็ดพันธ์ุได้จากตลาดจำหน่ายพันธุ์ไม้และอุปกรณ์ปลูกไม้ดอกไม้ประดับตามแหล่งต่างๆได้ ซึ่งสามารถทำโดยการหว่านเมล็ดหญ้า การกลบเมล็ด การคลุมดิน และการให้น้ำ แต่การปลูกหญ้าโดยใช้เมล็ดโดยทั่วไปคนไทยเราไม่ค่อยนิยมวิธีนี้มากนัก
     - การปลูกหญ้าด้วยส่วนของลำต้น สามารถแบ่งออกเป็นดังนี้ การปูเป็นแผ่น ( Sodding ) การตัดเป็นแผ่นเล็กๆ ( Plugging ) การแยกปลูกเป็นต้นเดี่ยว ( Sprigging ) การหว่าน ( Stolonizing ) ซึ่งจะใช้การปลูกหญ้าวิธีใดก็แล้วแต่ความถนัดในแต่ละบุคคล แต่่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยนิยมปลูกหญ้าสนามแบบการปูเป็นแผ่นมากกว่า
     4. การปฎิบัติรักษาสนามหญ้าหลังจากการปลูก การเอาใจใส่ดูแลรักษาสนามหญ้าหลังปลูกเป็นเสมือนช่วง"อนุบาล" เพราะหญ้ากำลังอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอและกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะใหม่ หญ้าจะต้องต่อสู้กับภัยอันตรายหลายอย่าง ทั้งความร้อนจากแสงแดด อุณหภูมิ ฝนตกหนัก ความชื้นสูง โรคแมลงและวัชพืช เจ้าของและผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาสนามหญ้าปลูกใหม่จะต้องตระหนักว่าหญ้าที่ปลูกใหม่นั้นก็เปรียบเสมือนลูกสัตว์ที่คลอดใหม่ ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจนกว่าหญ้าจะเจริญเติบโตแข็งแรง ทนต่อสภาพฟ้าอากาศได้ดี สิ่งที่ควรปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอได้แก่ การรดน้ำ การใส่ปุ๋ย การทำร่ม ( ถ้าเป็นการปลูกหญ้าด้วยแผ่นเล็ก การแยกปลูกต้นเดี่ยวและการหว่านลำต้น ) การตัดหญ้า การปราบวัชพืช และการปรับระดับสนาม
     จะเห็นได้ว่าการสร้างสนามหญ้าที่ดีให้สวยงาม มีคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่ยากเกินความรู้ความเข้าใจของผู้ที่สนใจจริงจะสร้างสนามหญ้า ดังนั้นถ้าเราได้ลอง หมั่นฝึกฝน รวมทั้งหาความรู้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

     แหล่งข้อมูล : บทความการจัดการสนามหญ้า และประสบการณ์ทำงานในการออกแบบจัดสวน สร้างสนามหญ้า โดยตรง

image

สวนดาดฟ้าเราสร้างได้

     ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจบ้านเราที่นับวันจะบีบรัดวิถีการดำรงชีวิตให้เราห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที คงจะดีไม่น้อยหากในบ้านหลังเล็กๆหรือคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่จำกัดจะมีมุมพักผ่อนเล็กๆไว้นั่งเล่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ท่ามกลางธรรมชาติ ดังนั้นการหามุมเล็กๆ ระเบียงดาดฟ้าที่ยังว่างเปล่านำมาใช้ประโยชน์โดยการจัดสวนดาดฟ้าหรือสวนในอาคารน่าจะเป็นคำตอบที่ดีมาก
     หากเรามีความคิดที่จะจัดสวนดาดฟ้าหรือสวนในอาคาร สิ่งที่ควรตระหนักและพึงระมัดระวังให้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง (นอกจากเรื่องงบประมาณในกระเป๋า) คือ เรื่องความสามารถในการรับน้ำหนักของอาคาร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบสวนบนอาคาร หากอาคารไม่ได้เตรียมโครงสร้างไว้ น้ำหนักจากต้นไม้ น้ำหนักจากดินปลูก น้ำหนักจากวัสดุตกแต่งอื่นๆ เช่น พื้นทางเดิน เฟอร์นิเจอร์สนาม ประติมากรรม ล้วนแต่สร้างภาระให้กับโครงสร้างอาคาร ดังนั้นควรสอบถามวิศวกรที่ออกแบบโครงสร้างด้วยเพื่อความปลอดภัย
     เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างละเอียดคือ "น้ำ" ทั้งน้ำที่ใช้ในการดูแลรักษาต้นไม้ และระบบระบายน้ำ ซึ่งการออกแบบจัดสวนนี้ต้องทราบตำแหน่งจุดรับน้ำ (Floor Drain) และเพื่อให้มีการระบายน้ำให้เร็วที่สุด ควรมีการติดตั้งระบบระบายน้ำใต้ดิน (Sub Drain) และพื้นอาคารที่ติดตั้งควรทำระบบกันซึมเป็นพิเศษกว่าดาดฟ้าทั่วไป
     สำหรับด้านการจัดสวนดาดฟ้า คงต้องเริ่มจากความต้องการและวัตถุประสงค์ของท่านเจ้าของอาคารว่าต้องการกิจกรรมอะไรบนสวน เช่น การจัดสวนเพื่อพักผ่อน มุมนั่งเล่น มุมทำงาน อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือ กิจกรรมอื่นๆตามความเหมาะสม ซึ่งจะต้องเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสม การออกแบบสวนดาดฟ้าหรือสวนในอาคารบางครั้งมีลักษณะแบบสวนหย่อมชั่วคราว หรือสวนไม้กระถาง จัดวางอย่างง่ายๆ เพื่อลดน้ำหนักโครงสร้าง แค่นี้ก็สามารถใช้เป็นสวนพักผ่อนของท่านได้แล้ว
     สิ่งสำคัญเพิ่มเติมที่มองข้ามไม่ได้คือ การวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศ ทั้งแดด ลม ฝน มุมมอง เงาอาคาร มีผลต่อรูปแบบและการจัดวางประโยชน์ใช้สอยของสวน ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกชนิดประเภทของต้นไม้บนสวนดาดฟ้า ต้นไม้ที่เลือกใช้บนสวนดาดฟ้าไม่ควรเป็นไม้ผลัดใบ มีน้ำหนักเบา มีระบบรากที่ไม่รุนแรง และควรเป็นต้นไม้ที่ทนทานกว่าต้นไม้ทั่วๆไป
     การปลูกสามารถปลูกได้ทั้งกระถาง หรือจะเอาลงดินก็ได้ซึ่งก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ไม้กระถางสะดวกในการก่อสร้างมากกว่าการปลูกลงดิน แต่ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้น้อยกว่าเนื่องจากมีดินปลูกจำกัด 
     ต้นไม้ที่ปลูกในอาคารจะแตกต่างกับต้นไม้บนดาดฟ้าตรงที่ต้นไม้ในอาคารมักจะไม่ได้รับแสงแดดแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนต้นไม้ให้ออกไปรับแสงแดดบ้างเมื่อต้นไม้โทรม ความยุ่งยากเหล่านี้ทำให้สวนในอาคารบางแห่งมักจะใช้ต้นไม้เทียมแทนต้นไม้จริงเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาทั้งนี้ถ้ามีการ Training ต้นไม้ให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในเรือนเพาะชำก่อนนำไปปลูกจริง ก็จะเพิ่มโอกาสให้ต้นไม้นั้นมีชีวิตรอด
     จะเห็นได้ว่าการจัดสวนดาดฟ้าแม้จะมีข้อควรระวังปลีกย่อยต่างๆ แต่ผู้ที่สนใจก็ยังคงสามารถจัดได้ง่ายๆและไม่ต้องยุ่งยาก ก็เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ใช้สอยอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับอาคาร ซึ่งถ้าช่วยๆกันสร้างพื้นที่สีเขียวบนอาคารก็เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่บ้านเมืองส่วนรวมต่อไป

     แหล่งข้อมูล : บทความสวนดาดฟ้าเราสร้างได้ จากสวนและต้นไม้ และประสบการณ์ทำงานด้านการออกแบบจัดสวนโดยตรง

image

หลังคาเขียวกับภาวะโลกร้อน

     ภูมิทัศน์ดาดฟ้าหรือสวนหลังคาเพื่อประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมานานแล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่คำว่าหลังคาเขียว (Green Roof) ซึ่งเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยบ้างแล้วแต่ยังไม่แพร่หลายโดยทั่วไป ทั่วโลกได้ยอมรับแล้วว่าหลังคาเขียวมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการบรรเทาภาวะโลกร้อน
     หลังคาเขียวคืออะไร ? หลังคาเขียว (Green Roof) มิใช่การเล่นสีหลังคาเพื่อความสวยงาม แต่หมายถึงหลังคาที่ใช้พืชพรรณสีเขียวไปปลูกบนดินปลูกที่เหมาะสมเพื่อลดความร้อน ที่ผ่านเข้าสู่อาคารทางหลังคา รวมถึงการจัดสวนในรูปแบบต่างๆบนอาคารซึ่งแบบของสวนที่จัดอาจจะมีทั้งซับซ้อนและไม่สลับซับซ้อน เช่น การปูสนามหญ้าบนหลังคา นอกจากการประหยัดพลังงานแล้วหลังคาเขียวยังมีคุณประโยชน์อีกมาก เช่น ช่วยลดปริมาณน้ำฝนจากหลังคาที่จะไหลสู่ระบบระบายน้ำช่วยลดการท่วมจากน้ำฝนช่วงที่ฝนตกหนัก และการสร้างระบบนิเวศในเมืองอีกด้วย นอกจากนี้หลังคาเขียวยังอาจหมายถึงหลังคาที่คลุมด้วย "เทคโนโลยีเขียว" อื่น เช่น แผงสุริยะเพื่อการผลิตไฟฟ้า หรือบ่อบำบัด "น้ำสีเทา" (Gray Water) ซึ่งเป็นน้ำเสียที่บำบัดขั้นต้นแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ใช้น้ำรดต้นไม้ ด้วย
     คุณประโยชน์หลักของหลังคาเขียวนอกจากเป็นการอนุรักษ์พลังงานที่โยงไปถึงการบรรเทาภาวะโลกร้อนจากการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วยังช่วยประหยัดงบประมาณค่าทำความเย็นและความอุ่นได้มากอีกด้วย ประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับหลังคาเขียวในเมืองหนาแน่น คือ การช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงจากหลังคาซึ่งสร้างปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน หลังคาเขียวที่มีการจัดสวนและมีดินปลูกที่ชั้นรองรับหนา 20 ซ.ม. สามารถอุ้มน้ำฝนช่วง 15 นาทีแรกได้ร้อยละ 93.2 - 76.6 - 64.4 และ 54.4 ของปริมาณฝน 25 - 50 - 75 และ 100 ม.ม. ตามลำดับ ประโยชน์สำคัญของหลังคาเขียวถัดมาได้แก่ การลดเสียงรบกวนที่มาจากด้านหลังคาได้มากถึงร้อยละ 40 เดซิเบล นอกจากนี้ยังมีคุณประโยชน์อื่นหลายประการ เช่น
     - ใช้เป็นสวนพักผ่อน
     - ใช้ปลูกผัก ผลไม้ และไม้ดอก
     - ช่วยกรองมลพิษและโลหะหนักที่ติดเมล็ดฝนมาขณะตกผ่านอากาศ
     - ช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจน ในขณะที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
     - ให้ที่อยู่อาศัยพักพิงของนกและสัตว์ เป็นการส่งเสริมระบบนิเวศในชุมชนเมือง ฯลฯ
     - ช่วยทำให้พื้นโครงสร้างดาดฟ้า และระบบกันซึมมีอายุใช้งานนานขึ้น
   การก่อสร้างและการดูแลรักษา สำหรับการจัดสวนหลังคาหรือสวนดาดฟ้ามีปัจจัยหลักๆที่ควรพิจารณาดังนี้
     1. การรับน้ำหนักของหลังคาหรือดาดฟ้า ในการจะออกแบบจัดสวนเพื่อใช้สอยและเพื่อความสวยงามควรจะต้องตรวจสอบขีดความสามารถในการรับน้ำหนักเสียก่อน เนื่องจากอาจต้องมีการสร้างทางเดิน บ่อน้ำหรือกระบะต้นไม้ซึ่งมีน้ำหนักมาก แต่ถ้าเป็นการจัดสวนแบบเล็กๆ เช่น สวนแบบทุ่งหญ้า หรือการใช้ไม้ดอกที่มีสีสันและปูหญ้าที่ตัดเรียบ อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักมากนัก
     2. น้ำหนักของดินปลูก ควรเลือกที่มีน้ำหนักเบา อุ้มน้ำแต่ระบายน้ำได้ดีและไม่ย่อยสลายง่าย ดินปลูกน้ำหนักเบานี้จำเป็นสำหรับดาดฟ้าหรือหลังคาอาคารเดิมที่ไม่ได้เผื่อน้ำหนักใช้สอยไว้
     3. การป้องกันการรั่วซึมและการระบายน้ำ ดาดฟ้าควรเป็นแบบคอนกรีตผสมน้ำยากันซึมที่เป็นผิวซีเมนต์ขัดมันธรรมดาที่มีทางระบายและรูระบายน้ำให้เพียงพอกับพื้นที่
     4. การให้น้ำและการดูแล ควรมีระบบน้ำหยดขนาดเล็กคอยเสริมในช่วงที่แห้งแล้งผิดปกติ หรือจะใช้ระบบการให้น้ำเหมือนงานภูมิทัศน์หลังคาทั่วไป ในชนบทยุโรปบางแห่งปล่อยให้ฝูงแพะขึ้นไปคอยดูแลตัดหญ้าแทนคน
     5. พรรณไม้ โดยที่ภูมิทัศน์ "หลังคาเขียว" อยู่บนที่สูงหรืออยู่บนหลังคาจึงทำให้การดูแลรักษายากกว่าภูมิทัศน์บนพื้นดิน ดังนั้นควรเลือกพรรณไม้ประเภทไม้อวบน้ำที่ขึ้นในที่สูงและที่แห้งแล้ง ไม่โตเร็วเกินไปและมักมีขนาดไม่ใหญ่โตเมื่อโตเต็มที่ เช้น พืชสกุล Sedum ซึ่งมีหลายชนิดพันธุ์ หรือที่ปลูกในถาดสำเร็จรูปที่ยกไปติดตั้งได้ทันที เรียกกันว่าแบบ Modular หรือแบบ Grid เป็นต้น
     ประเทศไทยมีการจัดสวนหลังคาหรือสวนบนดาดฟ้ามานานพอควร แต่ส่วนใหญ่ทำเพื่อความสวยงามและการใช้สอยเป็นหลัก ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการลดความร้อนที่เข้าทางหลังคาเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่บนที่ดินที่มีราคาแพงมีการออกแบบจัดสวนหลังคากันมาก โดยเฉพาะโรงแรมและที่พักอาศัยมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ขยายการจัดและตกแต่งสวน ต้นไม้ สนามหญ้า ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพักผ่อนกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ นอกจากนี้หลังคาเขียวยังมีบทบาทกับนานาประเทศอย่างชัดเจนทำให้เกิดการออกกฎหมายบังคับอาคารใหม่และอาคารเดิมที่ปรับปรุงใหม่ให้สร้างหลังคาเขียวโดยกำหนดค่าการเปลี่ยนถ่ายความร้อนทางหลังคา (OTTV) ข้อจำกัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการที่สหประชาชาติกำหนดมาตรการและวิธีการ "การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอน" (Carbon Trade) ด้วย ซึ่งทุกๆข้อตกลงในระดับนานาชาติต่างก็สร้างเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของโลกให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน

     แหล่งข้อมูล : บทความหลังคาเขียวกับภาวะโลกร้อน จากสวนและต้นไม้ และประสบการณ์ทำงานด้านการออกแบบจัดสวนโดยตรง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้